นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2014 จนถึงตอนนี้ Uber ได้ดำเนินธุรกิจในไทยมาครบ 2 ปีแล้ว แม้จะผ่านอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ Uber ยังเดินหน้าให้บริการผู้บริโภคอย่างไม่หยุดนิ่ง ในแนวทาง Ride Sharing ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสู่ชีวิตประจำวัน จับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการเดินทาง และผู้มีรถที่ต้องการเพิ่มร่วมทาง ภายใต้คอนเซปต์การทำงานที่เรียบง่าย “กดปุ่มแล้วก็ออกเดินทาง!” ด้วยพันธกิจที่ต้องการเป็นตัวเลือกของการเดินทางที่อำนวยความสะดวก เชื่อถือได้ และปลอดภัย
สำหรับในประเทศไทย หากย้อนไปดูตั้งแต่ปี 2014 การให้บริการของ Uber ในกรุงเทพฯ ยังมีอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น และถ้าดูจากภาพด้านล่าง ปี 2016 การให้บริการของ Uber เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ขยายและครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันบริการที่ Uber มีในกรุงเทพฯ แบ่ง 2 ประเภทด้วยกัน คือ UberX และ UberBLACK
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ เริ่มหันมาใช้ Uber มากขึ้น ทั้งการเป็นผู้ขับและผู้โดยสาร ทำให้ระยะเวลาการรอรถหลังจากกดปุ่มเรียกน้อยลง จากเดิมในปี 2014 ที่ใช้เวลา 10.69 นาที และในปีนี้เหลือเพียง 5.65 นาที (ในเขตเมือง) และถ้าเป็นในเขตชานเมือง/นอกเมืองอยู่ที่ 7 นาที
ส่วนเมืองอื่นๆ ที่เร็วที่สุดคือ กรุงลอนดอน 2.3 นาที ตามมาด้วยซิดนีย์ 2.8 นาที, ซานฟรานซิสโก 3.5 นาที, ปักกิ่ง 4.1 นาที และจากาตาร์ 5.8 นาที
อย่างที่ทราบกันดีว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองรถติด มีปัญหาด้านการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน นับเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ Uber ที่ต้องให้บริการอย่างรวดเร็ว และลดเวลาการรอคอยของผู้โดยสารให้สั้นลง คุณชาน ปาร์ค ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Uber เผยว่า Uber มีทีมงานที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ณ เวลาจริง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ตอนนี้ Uber เปิดให้บริการใน 400 เมือง จาก 70 ประเทศทั่วโลก ก่อนจะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ ทีมงานที่ประจำอยู่ในประเทศนั้นๆ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจระบบจราจร เพราะคนในท้องที่จะเข้าใจปัญหาได้ดีที่สุด เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะนำมาพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานต่อไป
แม้ตอนนี้ Uber ยังมีข้อขัดแย้งด้านกฎหมาย ทาง Uber ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คุณชาน เผยว่า ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีกฏหมายรองรับการ Ride Shearing โดยตรง นี่จึงเป็นโอกาสที่ทาง Uber จะเข้าหารือกับภาครัฐ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงประเทศฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์เท่านั้นที่มีกฏหมายรองรับ
มาถึงวันนี้ Uber มีจำนวนผู้ขับ Uber เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เเละสร้างโอกาสในการหารายได้มาก เมื่อดูจากภาพด้านบนจะเห็นว่าระยะเวลาที่ผู้ขับ Uber จอดรอผู้โดยสารลดลง เป็นเพราะความต้องการของผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นถึง 3.5 เท่า และเมื่อมีผู้โดยสารเดินทางมากขึ้น ผู้ขับก็มีรายได้ต่อชั่วโมงทำงานมากขึ้นเช่นกัน (รายได้จากการขับ Uber จะถูกคำนวนจากเวลาที่มีผู้โดยสารอยู่ในรถ)
ผู้ขับ Uber ส่วนใหญ่เลือกทำเพราะความสะดวกและมีเวลายืดหยุ่น นอกจากนี้ 55% ของผู้ขับในกรุงเทพฯ จะใช้เวลาขับรถ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น หลังจากที่เปิดให้ชำระเงินด้วยเงินสด มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ ที่รู้สึกสบายใจในการจ่ายเงินสดมากกว่า ส่วนในกลุ่มอื่นๆ ยังเลือกใช้บัตรเครดิตอยู่เหมือนเดิม
ก้าวต่อไปของ Uber
ในปีนี้ Uber ตั้งเป้ายอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ขยายบริการไปสู่ชานเมืองเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงเข้าหาภาครัฐเพื่อหารือเรื่องกฏหมายที่เหมาะสม