งาน Startup Thailand 2016 จบไปแล้วอย่างสวยงาม นี่คืองานลักษณะแสดงธุรกิจและเทคโนโลยี 4 วัน ที่มีคนไทยให้ความสนใจไปร่วมงานมากที่สุด ที่สำคัญคือ ไม่มีของขายในงานด้วย เพราะทุกคนต้องการไปดูจริงๆ ว่าStartup เป็นอย่างไร จะลงทุนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ และปิดท้ายงานด้วยการแถลงของสมาคม Thai Tech Startup ที่เปิด White Paper ฉบับเต็ม เพื่อเป็นข้อเสนอถึงรัฐบาล
จากที่ Marketingoops เคยนำเสนอประเด็นคร่าวๆ จาก White Paper ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้คือการแถลงอย่างเป็นทางการ นำโดย ไผท ผดุงถิ่น นายกสมาคมสตาร์ทอัพ พร้อมด้วยทีมงานและคณะผู้จัดทำ White Paper นี้ ซึ่งปัจจุบัน White Paper ได้ส่งถึงมือรัฐบาล พร้อมความเชื่อที่ว่า จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขึ้น เพื่อผลักดันให้ ธุรกิจ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้คนไทย ได้มีโอกาสขยายไปแก้ปัญหาในประเทศอื่นๆ
ไผท บอกว่า Startup ที่โด่งดังทั่วโลกเกิดขึ้นมาในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี Uber เกิดปี 2009 มีมูลค่าธุรกิจ 50,000 ล้านเหรียญ, Grab เกิดปี 2011 มีมูลค่าธุรกิจ 3,000 ล้านเหรียญ, airbnb เกิดขึ้นไม่นานมีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญ และในประเทศไทยกำลังเกิดการล่าอาณานิคมทางดิจิทัล มี Startup ระดับโลกเข้ามาให้บริการ เช่น Facebook, LINE, Paypal, Alibaba, LAZADA, Google เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศในทางเศรษฐกิจ และอนาคต ดังสมาคมฯ จึงต้องการผลักดัน 3 ประเด็นหลักคือ
1.รวม Startup ให้เป็นปึกแผ่น เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง
2. สร้าง Startup ดีๆ ให้เกิดขึ้น รุ่นพี่แนะนำและช่วยเหลือรุ่นน้อง
3. สร้างการรับรู้ในวงกว้างว่า Startup คืออะไร สำคัญอย่างไร
และได้เกิดเป็น White Paper ขึ้น โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ
1. กฎหมาย โดยเฉพาะเชิงธุรกิจ ประเทศไทยยังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก Startup ไทยเลยต้องไปจดทะเบียนต่างประเทศ ดังนั้นจึงควรมีการแก้กฎหมายที่เร่งด่วน เช่น
a. การถือหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติ ต้องมีกฎหมายยกเว้นให้ทำธุรกิจได้ทุกประเภท และถือหุ้นในแหล่งทุนได้ 100% เพื่อดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญ
b. Convertible Debt ออกกฎหมายให้ Startup ออกหุ้นกู้ได้
c. ESOP/Vesting ออกกฎหมายให้บริษัททั่วไปสามารถออกได้
d. Foreign Transfer ภายใน 1 วัน ออกกฎหมายให้โอนเงินสำหรับการลงทุนได้
e. หุ้นบุริมสิทธิ์ ออกกฎหมายยกเว้นให้สามารถแก้ไขได้
f. ยกเว้นภาษีเงินได้เงินปันผล เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันให้เท่าเทียมประเทศเพื่อนบ้าน
g. ยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายเงินลงทุน
h. ชาวต่างชาติได้สิทธิ์ทำงานและอยู่อาศัยในประเทศ
i. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ประกอบการ Startup
2. ส่งเสริมการใช้ Startup ไทยแบบสร้างสรรค์ ผลักดันให้เกิดการตั้งโจทย์และนำ Startup เข้าไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการใช้งานจริงการตั้งโจทย์ของประเทศไม่ควรตั้งแบบเดิม จ้างที่ปรึกษามาศึกษาและออก TOR ขาดความสร้างสรรค์ แต่ควรตั้งโจทย์แบบ Grand Challenge เหมือนสิงคโปร์ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยไม่มีการตีกรอบไว้ก่อนเช่น รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ควรตั้งโจทย์ และเปิดกว้างให้สร้างสรรค์วิธีเข้ามาแก้ไขปัญหา
3. เงินต้องเข้ามาอย่างถูกต้อง และใช้โดยคนที่ถูกต้อง ทั้งเงินภาษีของประชาชน เงินลงทุนจาก VC และ Startupการร่วมลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยงและอาจเกิดความผิดพลาดได้ ทำอย่างไรให้ใช้เงินอย่างเหมาะสม (ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชนด้วย) ต้องดึงความมีประสบการณ์ เคยบริหารกองทุนภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารกองทุน เกาหลีใต้มีกองทุนในลักษณะนี้ จะสร้าง VC อย่างไร และต้องลงทุนอย่างไร
การลงทุนนจากภาครัฐ จะมาในลักษณะ Matching Fund คือเงินที่มาร่วมลงทุนกับ VC ที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว ไม่ใช้ดุลยพินิจ เรียกว่า Startup และ VC ได้ลดความเสี่ยงด้วย มีเงินลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง มีโอกาสเติบโต เข้า IPO หรือ ควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ประเทศไทย ควรกำหนดชัดเจนว่า มีการสนับสนุน Startup ด้านใดบ้าง และมี 3 แนวทางที่ต้องการพัฒนาให้เป็น HUB อย่างชัดเจนเช่น AgriTech, HealthTech, TravelTech ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ เป็นต้น แต่ Startup ด้านอื่นๆ ก็ยังสนับสนุนเช่นเดิม
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ White Paper อยากให้ทุกคนที่สนใจดาวน์โหลดฉบับเต็มไปอ่านทำความเข้าใจกันได้ คลิกเลย ThailandStartup.org