หากเอ่ยถึง “การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม” คุณจะนึกถึงอะไรบ้าง….. สร้างฝาย ปลูกป่า สร้างห้องสมุด เลี้ยงอาหารเด็ก ให้ทุนการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเราพอรู้จักกิจกรรมเหล่านี้ในบทบาทของ CSR (Corporate Social Responsibility) คือ การที่องค์กรภาคธุรกิจหันมาใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เสมือนการคืนกำไร ด้วยการปันทรัพยากรบางส่วนจากองค์กร ไปพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ แทบจะทั่วโลกรวมถึงในไทยให้ความสำคัญกับ CSR
แม้ CSR จะเป็นแนวคิดเพื่อสังคมที่สร้างคุณค่าได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ใช่หนทางที่สามารถบำบัดปัญหาในสังคมได้อย่างยั่งยืน หลายองค์กรมีแผนกิจกรรม CSR ที่คิดขึ้นใหม่ทุกปี หลายกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด และไม่มีการติดตามผลในระยะยาว ซึ่งการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมได้ แต่เราก็ยังเชื่ออยู่ว่า CSR คือแนวคิดทรงคุณค่าที่ยังควรดำรงอยู่
แล้วคุณเคยได้ยินคำว่า “Social Enterprise” มั้ยเอ่ย? อันที่จริงบ้านเราก็กล่าวถึงคำนี้กันมาหลายปีแล้ว มันเป็นแนวคิดที่มีต้นกำเนิดจากสหราชอาณาจักร (UK) ถูกนิยามเป็นคำไทยว่า ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ ฟังดูทางการแต่พูดง่ายๆคือ ‘การที่องค์กรภาคธุรกิจหันมาใส่ใจและแก้ปัญหาสังคมด้วยแนวทางที่ยั่งยืน’ แล้วมันต่างกับ CSR อย่างไรบ้าง? ซึ่ง Marketing Oops! ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังเสวนาในหัวข้อ “How can Corporate Directors Help Nurture Social Enterprise?” และสิ่งที่เรานำมาบอกเล่า คือหัวใจของเนื้อหาที่เราสรุปมาให้คุณเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
ความแตกต่างของ Social Enterprise กับ CSR
Social Enterprise กับ CSR มีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะ ‘Social Enterprise’ จะเอาปัญหาหลักของสังคมมาตั้งเป็นโจทย์ แล้วกำหนดแนวทางมาแก้โจทย์นั้น โดยมีเป้าหมายว่าต้องเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาของสังคมได้อย่างยั่งยืน หากวันใดที่ไม่มีการเกื้อหนุนจากภาคธุรกิจแล้ว สังคมต้องอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ซึ่งในประเทศไทย ‘ความยากจน’ เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคม หลายจังหวัดที่ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ยังคงประสบปัญหาความยากจน ยังมีกลุ่มคนที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง หลายพื้นที่ทำเกษตรกรรมในลักษณะไร่เลื่อนลอย การเข้าไปช่วยเหลือไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ในฐานะผู้ให้ย่อมรู้สึกดี และผู้ได้รับก็ยิ่งรู้สึกดี แต่การช่วยเหลือโดยการเข้าไปสร้างรากฐานที่ช่วยให้ผู้รับสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง คือสิ่งที่ดีและมีคุณค่ายิ่งกว่า เพราะนั่นคือการช่วยเหลือที่ให้ผลลัพธ์ยั่งยืนถาวร
เราจึงอยากยกเคส “Social Enterprise” ในไทยที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายด้วยการริเริ่มของ“Singha Park” บนเนื้อที่ 8,000 ไร่ ซึ่งเป็นเมโดลธุรกิจที่ก่อให้เกิดคุณค่าเป็นวงกว้างแก่ผู้คนในจังหวัดเชียงราย
จุดประกาย ‘Social Enterprise’ ในประเทศไทย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ‘รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ’ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ได้เอ่ยถึง ‘Social Enterprise’ ที่เกิดจาก ‘Singha Park’ ในงานเสวนา “How can Corporate Directors Help Nurture Social Enterprise?” ได้อย่างน่าสนใจ ด้วยแนวคิดที่ว่า บริษัทที่ทำธุรกิจจนมั่นคงและมีความถึงพร้อมในทุก ๆ ด้านและมีความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างแท้จริงด้วยโมเดลของ ‘Social Enterprise’ ได้ โดยเริ่มจากการมองให้ลึกว่าอะไรคือปัญหาหลักของสังคมที่เราจะเข้าไปพัฒนา ตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมาแล้วพัฒนาแนวคิดและแผนธุรกิจให้สอดรับกับปัญหานั้น ส่วนผลกำไรที่ได้จากธุรกิจ ‘Social Enterprise’ ก็ปันไปสู่สังคมในรูปแบบของการสร้างระบบที่จะพัฒนาต่อได้ในระยะยาว
นั่นหมายถึงต้องเป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีกำไร บริษัทแม่ต้องอยู่ได้ก่อน สังคมจึงจะพัฒนาต่อได้ กำไรที่กลับคืนสู่สังคมจะไม่ได้อยู่ในรูปของเม็ดเงิน แต่คือระบบที่ก่อให้เกิดชุมชนวิชาชีพ คนในพื้นที่ต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ทั้งหมดคือการพัฒนาที่ใฝ่หาความยั่งยืน เพราะบริษัทแม่ที่เข้าไปช่วยเหลือไม่สามารถอุ้มชูชุมชนไปได้ตลอด
แม้ ‘Social Enterprise’ จะเป็นโมเดลที่ยากเพราะต้อง ใช้เงิน ใช้เวลา และใช้ความตั้งใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางธุรกิจก็ทำแล้วไปได้ดี บางธุรกิจก็ไปไม่ได้ แต่ “Singha Park” นั้นได้ริเริ่มและดำเนินรูปแบบธุรกิจนี้มาได้สักระยะจนเกิดผลเป็นเม็ดเงิน
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ, อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
8,000 ไร่บนเชียงราย กับการตั้งโจทย์ที่ท้าทาย
จุดเริ่มต้นของ ‘Social Enterprise’ ในเชียงรายจังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน มีปะปนกันหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพื้นราบ และชาวไทยภูเขาอีกหลายเผ่า ซึ่งยังมีสัดส่วนของประชากรที่มีความยากจนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และยังมีการทำเกษตรกรรมในลักษณะไร่เลื่อนลอย รวมถึงเชียงรายยังไม่มีสินค้าหลักอะไรที่เป็นเอกลักษณ์จนสามารถสร้างอิมแพคได้มากพอ
ด้วยเหตุนี้ ‘คุณสันติ ภิรมย์ภักดี’ จึงเกิดความคิดริเริ่มอยากทำบางอย่างกับที่ดินบนพื้นที่ 8,000 ไร่ ในเชียงราย โดยตั้งโจทย์ว่าสิ่งที่ทำต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม คนเชียงรายต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จึงนำมาสู่โมเดลธุรกิจ ‘Social Enterprise’ ที่ทำให้พื้นที่ 8,000 ไร่นั้นกลายเป็น ‘Singha Park’ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมของจังหวัดเชียงราย ที่ก่อกำเนิดชุมชนและสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่นับพันคน การสร้าง Social Enterprise จากแหล่งท่องเที่ยว จะช่วยกระจายรายได้ในจังหวัด เพราะธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีกหลายสาขาอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นขนส่งมวลชน ค้าขาย บริการต่างๆ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมากมายในจังหวัดเชียงราย
ในมุมมองการตลาดการสร้างแลนด์มาร์คให้จังหวัดเชียงราย เป็นกลยุทธ์เหมาะเหม็งที่จะทำให้คนจดจำเชียงรายด้วยการ remind ถึงแลนด์มาร์ค เหมือนที่เรานึกถึง หอไอเฟล เวลาเอ่ยถึงกรุงปารีส และแลนด์มาร์คที่เแข็งแรงจะทำให้เชียงรายกลายเป็นอีกหนึ่ง destination สำหรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งความได้เปรียบของ Singha Park คือ ความใหญ่ และทิวทัศน์ที่สวยงาม การจัดสรรพื้นที่ที่ดี จะทำให้ 8,000 ไร่แห่งนี้สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมาย ที่สำคัญคือคนในพื้นที่ถูกเชื้อเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา 8,000 ไร่ของ Singha Park ผ่านการจ้างงาน จนเกิดเป็นชุมชนอาชีพที่ผู้คนมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเองไปพร้อมๆกับการเกื้อหนุนโดยภาคธุรกิจ
‘Singha Park’
เดิมเริ่มมาจากการเกษตรแบบผสมผสาน ทำแปลงทดลองค้นคว้าพืชน่าปลูกหลายชนิดในไร่บุญรอด(ชื่อเดิม) เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้นำไปต่อยอดในวิชาชีพของตนเอง รวมถึงมีการจ้างงานคนในพื้นที่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไร่บุญรอด การสร้างรายได้จึงเกิดขึ้นในบ้านเกิด คนในพื้นที่จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแสวงหารายได้ในเมืองหรือต้องไปทำงานไกลบ้าน ซึ่งพัฒนาปรับเปลี่ยนต่อเนื่องมาหลายปีจนเหมาะสมจะเป็นระบบที่เลี้ยงตัวเองได้ ในที่สุดจึงเกิดเป็นพื้นฐานของธุรกิจเพื่อสังคม ที่เอาโมเดล Social Enterprise มาเป็นแม่แบบในการพัฒนา
จากเคสของ SINGHA PARK น่าจะพอทำให้เราทราบได้ว่า ‘Social Enterprise’ ไม่ใช่แนวคิดแบบ ‘ยูโทเปีย’ เพราะมันเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรมที่จังหวัดเชียงราย เราไม่ได้บอกว่ามันง่าย อันที่จริงค่อนข้างเป็นไปได้ยากในบ้านเราด้วยข้อจำกัดหลายประการ และยังต้องอาศัย เงินทุน เวลา ความตั้งใจอย่างแรงกล้า การรวมมือจากคนในพื้นที่ วิสัยทัศน์ของผู้นำ และอีกหลายปัจจัยเล็กใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้แนวคิด ‘Social Enterprise’ แตกต่างคือ ความยั่งยืนอันเกิดจากการลงมือปฏิบัติต่อเนื่องจนกว่าจะเกิดผล