3G ดันไทยก้าวสู่ สังคมอัจฉริยะ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

VodaNZท่ามกลางความขัดแย้งทางมุมมองของหลายๆ ภาคส่วน ทั้งบริษัทโทรคมนาคม นักกฎหมาย ภาคประชาชน รวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่มีต่อกระบวนการเตรียมเปิดประมูลใบอนุญาต และจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี ซึ่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 ในวันที่ 12 พ.ย. นี้ พร้อมความหวังที่ว่าจะสามารถบรรลุถึงบทสรุป เพื่อเดินหน้าเปิดประมูลได้ไม่เกินต้นเดือน ก.พ. 2553 นำพาประเทศไทยเข้าไปอยู่บนแผนที่ตลาด 3 จีของอาเซียน จากปัจจุบันเพื่อนบ้านรอบข้าง รวมถึงกลุ่มอินโดจีนได้นำหน้าไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก “ประเด็น” ที่ก้าวข้ามไปจากมุมมองทางธุรกิจที่ได้จะรับจากการเปิดบริการ 3 จี นั่นก็คือ ประโยชน์ในเชิงสังคม ซึ่งเปรียบเสมือน “ทางด่วน” เพื่อใช้นำส่งข้อมูล ความรู้ ไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงแทบทุกพื้นที่ของประเทศ และแน่นอนว่า ความรู้เหล่านั้น จะช่วยกระจายการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ในการดำรงชีวิตให้กับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ฐานล่างของพีระมิดทางสังคม สนับสนุนการสร้างประเทศไทยให้ก้าวสู่ “สังคมอัจฉริยะ”

“บุญชัย” ลุยสร้างสังคมอัจฉริยะรับ 3 จี

บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการบริหาร DTAC และประธานมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า หากมีบริการ 3 จีเกิดขึ้นในไทย คาดว่าสังคมอัจฉริยะในไทยจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากคนในสังคมสามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารลักษณะดาต้าถึงกันได้เร็ว

 โดยเฉพาะคนกลุ่มใหญ่ของประเทศอย่างเกษตรกร จะสามารถทำการค้าบนสังคมออนไลน์ ส่งข้อมูลพืชผลทางการเกษตรต่างๆ เป็นภาพไปยังปลายทางที่ติดต่อด้วยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้สะดวก ด้วยแอพพลิเคชั่นการใช้งานที่ง่ายผ่านมือถือระบบ 3 จี รวมทั้งการใช้งานจะง่ายขึ้นด้วย มีสัญลักษณ์ (ไอคอน) ที่หน้าจอมือถือให้ผู้ใช้กดเลือกส่งประเภทของข้อมูลได้ทันที และสถานภาพของเกษตรกรไทยจะเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มมีรายได้สูงขึ้น

 “3 จีก็เป็นเพียง tool ที่จะส่งข้อมูลภาพไปได้รวดเร็วขึ้น ขึ้นกับเราจะนำไปเป็นเครื่องมือใช้ประโยชน์ในด้านใด สำหรับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ได้บ่มเพาะผู้นำทางด้านเกษตรกรไว้แล้ว รวมถึงมีช่องทางกระจายข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชุมชน ผ่านรูปแบบสถานีวิทยุที่มีเครือข่ายทั่วไทย ผ่านเอสเอ็มเอส เว็บไซต์ไปก่อนนี้แล้ว” นายบุญชัยกล่าว

 ด้านประเด็นต่างๆ ที่ยังคงถกเถียงกันเรื่องก่อนการประมูล 3 จีนั้น ก็ปล่อยให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นกันไป ส่วนในแง่มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดแล้ว ทางด่วนข้อมูลใหม่นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเติบโตของชุมชนให้โตต่อเนื่องและยั่งยืน หลังจากที่ได้บ่มเพาะเยาวชนในโครงการมา 999 คน

“ทรู” แนะแปลงค่าคลื่นเป็นทุนสังคม

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การออกแบบประมูลนั้น ไม่ควรคำนึงเฉพาะเพื่อให้ได้มูลค่าคลื่นสูงสุด แต่ควรมองถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย โดยสามารถนำค่าคลื่นความถี่ไปใช้ เพื่อลงทุนในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมได้ และใช้ซับซิไดซ์ราคาอุปกรณ์ต่างๆ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ในมุมมองของเขา 3 จี ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ แต่คืออินเทอร์เน็ต ดังนั้น เมื่อ 3 จีให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ รัฐบาลก็อาจมีการสนับสนุนเงินกู้ให้นักเรียน เพื่อซื้อโน้ตบุ๊คมาเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เป็นการกระตุ้นให้แทบทุกครัวเรือนในประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ขณะเดียวกัน 3 จี ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีไร้สาย คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ขณะที่หากมี 3 จี และ 4 จีเข้ามา ก็จะกระตุ้นให้เติบโตเป็น 90% โดยจะมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยอย่างมากในอนาคต

ทั้งนี้ 3 จี จะทำให้ “มือถือ” กลายเป็นคอมพิวเตอร์ติดตัว ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถต่อบรอดแบนด์ไร้สายได้ตลอดเวลา เป็นช่องทางในการรับ และเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว

กทช. ชี้การลงทุนดันศก.โต 0.5-1%

นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นการออกใบอนุญาต 3 จี วันที่ 12 พ.ย.นี้ จะพิจารณาประเด็นต่างๆ ไม่ว่าเป็นกรณีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ ทีโอที และ กสท ผลการศึกษาจากจีเอสเอ็มเอ, Social Economic Benefit ในการลงทุน 3 จี ที่จะเกิดการลงทุนและการจ้างงาน การเตรียมการด้านการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นต้น โดยจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากหลายฝ่ายมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อความรอบคอบและไม่เร่งรีบในการออกใบอนุญาต เพราะได้ดำเนินการเรื่องนี้มากว่า 3-4 ปี

“การขอใบอนุญาต 3 จี คงไม่ทันปลายปีนี้ เพราะในปีนี้ น่าจะอยู่ในขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างน้อยจะแสดงเจตนาว่าจะไปเปิดประกวดราคาในต้นปีหน้า” นายประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ จำเป็นต้องสร้างโอกาสการลงทุนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด การออกใบอนุญาต 3 จี ใน 4 โครงข่าย จะทำให้เกิดการลงทุนนับแสนล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 8 หมื่นตำแหน่ง เพิ่มการติดตั้งโครงข่าย ก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจำนวนมาก (Multiplier หรือ Value Chain) จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะนำคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติมาใช้ประโยชน์ เพราะหากไม่นำคลื่นความถี่นี้มาใช้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์คลื่น 3 จี เป็นการเกิดขึ้นจากพัฒนาของเทคโนโลยี จะต้องศึกษาว่าจะทำอย่างไรในการใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่า

ทั้งนี้ กทช. ได้มีการศึกษาตัวเลขการลงทุน 3 จี ว่า จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 0.5-1% แต่จะมากกว่านี้หรือไม่อยู่ที่การลงทุนในอนาคต หากไม่มีการลงทุนโครงข่ายใหม่ ก็จะไม่มีผู้ประกอบการใหม่ ทำให้ไม่มีการจ้างแรงงานดูแลโครงข่าย รวมทั้งไม่เกิดธุรกิจต่อเนื่อง อาทิเช่น รีเทล ช็อป การลงทุนด้านคอนเทนท์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 จี

ขณะที่แนวทางการหารายได้จากคลื่น 3 จี ของผู้ประกอบการในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกหลากหลายช่องทาง โดยผู้ที่มีคอนเทนท์ ในมือจะได้เปรียบในการดำเนินงาน

Source:  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
logo_bkkbiz


  •  
  •  
  •  
  •  
  •