แม้คุณจะมีเพื่อนเป็นหลักพันบน Facebook แต่แน่ใจเหรอว่าผู้ใช้เหล่านั้นคือ “เพื่อน” ของคุณจริงๆ? เรื่องนี้ก็ไม่แน่เหมือนกันใช่ไหมล่ะ
Robin Dunbar เป็นนักมานุษยวิทยาซึ่งก่อนหน้าเคยเผยผลวิจัยน่าตะลึงว่ามนุษย์สามารถรักษาความสัมพันธ์เพียง 150 อย่างไว้กับตัวเท่านั้น การศึกษาใหม่ล่าสุดของเขาครั้งนี้ศึกษาเกี่ยวกับ “เพื่อนบน Facebook”โดยทำการศึกษาผู้ใช้ Facebook กว่า 3,375 แอดเคาท์ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-65 ปี และมีผู้ติดตาม (เป็นเพื่อน) ราว 150 คนขึ้นไป ผลการศึกษาน่าสนใจมากเพราะจากการสอบถามผู้ใช้ทั้งหมด ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเขาคิดว่ามีเพื่อนบนโซเชียลมีเดียเพียง 4.1 คนที่สามารถ “พึ่งพิงยามเกิดวิกฤติทางอารมณ์” ได้ ขณะที่มีเพียง 13.6 คนเท่านั้นที่พวกเขาสามารถเผยความเศร้าให้เห็นได้
การศึกษานี้สอดรับกับความคิดเดิมของ Dunbar ซึ่งระบุว่า จำนวนเพื่อนมากๆ ของมนุษย์ไม่ได้เพิ่มโอกาสให้เรามีเพื่อนสนิทได้เยอะขึ้นหรอก เราจะมีเพื่อน “ใกล้ชิด” มากๆ เพียงสองคน นอกนั้นก็คือเพื่อนระดับ “คนรู้จัก” ผลวิจัยนี้เป็นจริงทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์เพราะแม้จะเป็นคนติดโซเชียลมีเดียพวกเขาก็จะมีเพื่อนบนโลกออนไลน์ที่สนิทกันจริงๆ เพียง 2-3 คนเท่านั้น
สำหรับเรื่องอายุ แน่นอนว่าเด็กกว่าย่อมมีเพื่อนมากกว่า (ใครๆ ก็อยากแอดเด็กๆ หน้าตาดีใช่ไหมล่ะ) แต่ในโลกของความจริง คนที่มีอายุมากขึ้นกลับมีเพื่อนในชีวิตจริงมากกว่า “นั้นเพราะโซเชียลมีเดียสามารถปกปิดอัตลักษณ์ของคุณได้และทำให้คุณเป็นเพื่อนกับคนที่ไม่ค่อยมีส่วนคล้ายกับคุณได้อย่างแนบเนียน” Dunbar กล่าว
ผลสรุปสั้นๆ คือพวกเราแต่ล่ะคนมีเวลาและอารมณ์จำกัดที่จะติดต่อกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ ข้อดีของโซเชียลมีเดียอาจคือการช่วย keep connection ให้คุณ แต่สุดท้ายตัวคุณเองก็ไม่สามารถเก็บ connection เหล่านั้นไว้ได้ทุกคนหรอก คุณก็จะเลือกคนที่คุณสนิทด้วยมากที่สุดอยู่ดี