ก้าวแรกของผู้ชนะประมูลคลื่น 900 ที่ทุกคนจับตามอง TRUE– JAS

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

marketing

หลังจากจบการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz แล้ว ผู้ชนะคือ TRUE และ JAS เรียกว่าพลิกล็อคจนหลายคนอึ้งไปตามๆ กัน ไม่นึกว่า มูลค่า 151,952 ล้านบาท จะมีชื่อผู้ชนะเป็นรายที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นรายใหม่ และการแข่งขันก็เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรกของสัปดาห์ จันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2558 ตอนแรกมีการจัดงานในวันเดียวกันถึง 3 งาน แต่สุดท้าย ดีแทคเลื่อนวันจัด หลีกให้กับผู้ชนะอย่าง TRUE และ JAS ได้แถลงก่อน และนี่คือคำบอกเล่าจากปากของผู้บริหารทั้ง 2 ราย

May the force be with TRUE

ศุภชัย เจียรวนนท์ บิ๊กบอส กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารของ TRUE เดินนำหน้าผู้บริหารออกมานำการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยยืนยันว่า ราคาการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ถือว่าสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว เพราะผู้ชนะได้คลื่นที่ดี เป็นคลื่นที่มีการใช้งานอยู่แล้ว ทำให้ทรูมีคลื่นเพื่อให้บริการมากขึ้น และทำให้คู่แข่งมีคลื่นน้อยลง

ยอมรับว่าการประมูลมีความเสี่ยง แต่มั่นใจว่า TRUE มีการบริหารจัดการที่ดี ให้ผลตอบแทนสูงมาก และโอกสที่จะได้คลื่นดีๆ แบบนี้ เชื่อว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ซึ่ง TRUE มองว่าการแข่งขันนับจากนี้ไป จะมีมติของสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซึ่ง โครงสร้างพื้นฐานคือหัวใจสำคัญ นั่นคือ การลงทุนในคลื่นความถี่

“10 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ TRUE อยู่บนพื้นฐานของผู้ให้บริการที่มีคลื่นน้อยที่สุด (12.5MHz) จำนวนเสาสัญญาณน้อยที่สุด และระยะเวลาสัมปทานสั้นที่สุด ดังนั้นจึงไม่ลังเลที่จะประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้” ศุภชัย กล่าว

truetrue

4G Advanced รายแรกและรายเดียว

ศุภชัย กล่าวต่อว่า ผู้ให้บริการที่จะทำ 4G Advance ได้สมบูรณ์ต้องมีคลื่นความถี่อย่างน้อย 40MHz ซึ่งจากการประมูลครั้งนี้ ทำให้ TRUE มีคลื่นความถี่รวมแล้ว 55 MHz มากที่สุดในตลาด และจะให้บริการ 4G Advanced ได้อย่างสมบูรณ์รายเดียวในไทย โดยมีแผนบริหารจัดการคลื่น 850MHz สำหรับบริการ 3G, 2100MHz สำหรับบริการ 3Gและ4G, 1800MHz อยู่ระหว่างการจัดการ และ 900MHz สำหรับบริการ 2G

คลื่น 900 มีความครอบคลุมและทะลุทะลวงได้ดีที่สุด เหมาะมากสำหรับให้บริการ 2G ซึ่งบริการ Voice เป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องใช้นอกจากคนไทยแล้ว ยังรวมถึงคนต่างประเทศที่มาโรมมิ่งใช้บริการด้วย TRUE ไม่จำเป็นต้องใช้ 900 มาให้บริการ 4G เพราะมีคลื่นมากเพียงพอสำหรับทุกบริการ นี่คือข้อแตกต่างที่ผู้ให้บริการรายอื่นไม่มี

ThinkstockPhotos-162661269

5ปี ขอเป็นที่ 1 ในตลาด ส่วนแบ่ง 34%

การได้คลื่น 900 มา ทำให้ TRUE มีศักยภาพให้บริการสูงขึ้น โดยเตรียมเงินทุน 55,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุน 4G ในเวลา 3 ปี รวมถึง 2G ที่จะใช้ผ่าน 900 ด้วย โดยเงินลงทุนนั้น มาจากกระแสเงินสดของทรูเอง การได้เครดิตจากผู้จำหน่ายอุปกรณ์ Vender Financing การใช้กองทุน DIF (กองทุนและหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล) และการกู้เงินระยะสั้น-ยาว จากสถาบันการเงิน

TRUE ตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ จะต้องมีส่วนแบ่งมูลค่าตลาด (Market Valued Share) 34% จากปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 240,000 ล้านบาท และ TRUE มีส่วนแบ่งที่ 20% หากมีส่วนแบ่งที่ 34% เท่ากับว่า TRUE จะขึ้นเป็นที่ 1 ในตลาดทันที

ศุภชัย บอกว่า การประมูลได้คลื่น 900 และ 1800 คือการสร้างมูลค่าให้กับบริษัท สามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่ สร้างรายได้ใหม่ และมีเงื่อนไขการจ่ายเงินที่ดีมาก โดยคลื่น 900 แบ่งชำระ 8,000 ล้านบาทในปีแรก และ 4,000 ล้านบาทในปีที่ 2 และ 3 จากนั้นจึงชำระส่วนที่เหลือในปีที่ 4 ซึ่งศักยภาพของบริษัททำได้แน่นอน

ขณะที่คู่แข่งอย่าง AIS และ dtac ด้วยความเคารพในการตัดสินใจ ที่อาจมองการประมูลเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะใช้สำหรับการรักษาฐานลูกค้า ส่วน JAS ถือเป็นน้องใหม่ ที่มีคลื่นน้อย ไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากังวล

ศุภชัย พูดปิดท้ายว่า ใครอยากรู้ว่า TRUE รู้สึกอย่างไรตอนชนะการประมูล ต้องไปดู Star Wars: the Force Awaken (ไม่รู้ว่าหมายถึงฉากไหน)

APR_6503

ก้าวที่สำคัญของ JAS สู่ธุรกิจโทรคมเต็มรูปแบบ

พิชญ์ โพธารามิกCEO ของกลุ่มจัสมิน บอกว่า การประมูลได้คลื่น 900 คือก้าวที่สำคัญของกลุ่มจัสมิน จากที่ทำธุรกิจ Broadband มาหลายปี ที่ฐานลูกค้า 2 ล้านครัวเรือน มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 ในตลาด การได้คลื่นความถี่จะทำให้บริการ Fixed Broadband และ Mobile Broadband มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นลูกค้าเป้าหมายกลุ่มแรกของจัสมิน โมบาย คือ ลูกค้า 2 ล้านครัวเรือนนี้ โดยตั้งเป้าปีแรก จัสมิน โมบาย ต้องมีลูกค้า 2 ล้านราย และมีให้ครบ 5 ล้านรายใน 3 ปี

สำหรับมูลค่าการประมูล 75,654 ล้านบาท ซึ่งหลายคนมองว่าสูงมากกว่ามูลค่าของบริษัทจัสมินนั้น ทาง JAS มองว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะหาแหล่งเงินทุนได้ไม่ยาก เช่น จากกองทุน JAS-IF ที่สามารถออกกองทุนได้มูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท การดำเนินธุรกิจของ 3BB มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี การออกวอแรนในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าจะมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท รวมถึงการทำ Project Financing กับสถาบันการเงิน และ Credit Supplier กับผู้ผลิตอุปกรณ์ วงเงินหลายหมื่นล้านบาท

ยังไม่นับการจับมือพันธมิตรกับต่างประเทศ ที่ยังไม่เปิดเผยว่าจะมาจากประเทศใด แต่จะอยู่ในระดับ JAS Mobile และไม่ใช่หุ้นหลัก

APR_6573

พร้อมลุยตลาด 4G ได้เห็นมิติใหม่แน่นอน

การที่ JAS ได้คลื่น 900 มานั้น ถือว่าตรงกับการเป็นผู้ให้บริการรายใหม่ เพราะต้นทุนต่ำกว่าคลื่นอื่นๆ และมีเงื่อนไขการชำระเงินที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของรายใหม่ โดยเตรียมงบประมาณ 20,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนใน 3 ปี และสิ่งที่ผู้ใช้บริการจะได้รับคือ สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด

“3BB มีข้อมูลว่า ลูกค้ามีการใช้งาน Data กว่า 30GB ต่อเดือน JAS รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ขณะที่การให้บริการในตลาดมีราคาสูงแต่ปริมาณ Data จำกัด คือ 700-800 บาท ใช้ได้ 3-4GB แล้วต้องซื้อเพิ่ม รับรองว่า JAS จะสร้างมิติใหม่แน่นอน โดยลูกค้า 3BB จะได้รับสิ่งพิเศษก่อน” พิชญ์ กล่าว

หากมองภาพรวมของตลาด ทั้ง 3 รายมีเงินมากกว่า มีฐานลูกค้า แต่กลับมีข้อจำกัดในการประมูลมากกว่า เพราะทุกรายมองว่าคลื่นไม่ได้สร้างรายได้เน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม แต่ JAS มองว่า คลื่นคือธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างลูกค้าใหม่ และรายได้ใหม่ให้เกิดขึ้น ทำให้กล้าทุ่มและกล้าเสี่ยงบนพื้นฐานของความเป็นไปได้

ThinkstockPhotos-451334333

วางหมากการประมูลตั้งแต่ 1800 เพื่อคว้าคลื่น 900

พิชญ์ บอกอย่างชัดเจนว่า ในการประมูลทั้ง 2 ครั้ง มีการวางกลยุทธ์ไว้ทั้งหมด มีการประเมินว่าคู่แข่งเป็นใคร มีความต้องการคลื่นอะไรมากกว่ากัน ประเมินตัวเองว่าต้องการคลื่นอะไร ซึ่ง JAS พุ่งเป้าไปที่คลื่น 900 ตั้งแต่แรก ซึ่งมีศักยภาพและคุ้มค่าสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากกว่า มีการใช้ Tactics หลอกล่อ เพื่อสร้างโอกาสให้กับ JAS ในการคว้าคลื่น 900 มาได้สำเร็จ

“บอกได้เลยว่า ผู้บริโภคอยากให้ JAS ได้ เพราะจะมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาในตลาด แต่จะให้ JAS ได้ทั้ง 2 คลื่น ก็ยอมรับว่าไม่ไหว ทั้งหมดคือ Tactics แต่ยอมรับว่า ตอนผลการประมูล 900 ออกมา ประหลาดใจที่ผู้ชนะอีกรายไม่ใช่ AIS แต่เป็น TRUE” พิชญ์ กล่าว

จากนี้ ต้องจับตาดูกันให้ดีๆ ว่า TRUE ที่ได้คลื่นไปมากที่สุดในเวลานี้ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะสร้างความแตกต่างจาก TRUE เดิมๆ ได้แค่ไหน ส่วน JAS จะสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในตลาด และกลายเป็นผู้ให้บริการรายที่ 4 ที่อยู่รอดและเติบโตในตลาดได้อย่างไร ปีหน้าคือ สนามการแข่งขันเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

Copyright © MarketingOops.com


  •  
  •  
  •  
  •  
  •