จากที่ได้เคยมาเล่าเรื่อง Ad Blocker ในตอนก่อนหน้านี้ ในปัจจุบันนั้นสถานการณ์ Ad Blocker นั้นยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีกระแสตื่นตัวต่อเรื่องนี้มากมาย ในการรับมือ Ad Blocker ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งนี้นักการตลาดและคนทำเว็บในไทยตอนนี้หลาย ๆ ท่านยังคงไม่รู้สึกถึงภัยคุกคามนี้หรือยังคิดว่าไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ซึ่งในความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเลวร้ายกว่าที่คิด
จากการที่ App Ads Blocker ทั้งหลายได้รับความนิยมในต่างประเทศนั้น ทำให้ในส่วนของ Apple หรือ iOS เองตัดสินใจที่จะสนับสนุนการทำ App Ad Blocker ทั้งหลายขึ้นมา ทำให้ App Ad Blocker นี้ขึ้นทำเนียบอันดับ 1 ใน iTunes Store ของต่างประเทศในทันที จากการสำรวจของ iAB เอง พบว่า 34% ของผู้ใหญ่อเมริกันนั้นใช้ App Ad Blocker ในการปิดกั้นเนื้อหาโฆษณาทั้งหลายทิ้งโดยทันที ทั้งนี้การ Block ad ในเว็บต่าง ๆ นั้นทำให้คนทำเว็บในยุคนี้รายได้จากโฆษณาลดลงกว่า 40% ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาเองคาดว่าในปีนี้จะอยู่ที่ 189,000 ล้านดอลลาร์ และรวมกันทั้งโลกกว่า 589,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 40% จากเม็ดเงินตรงนี้ถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาลสำหรับคนทำเว็บและนักการตลาดที่เสียโอกาสทางการตลาดไป
จากเหตุการณ์ดังกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเกิดสงครามระหว่างผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่าง ๆ และคนทำ Ad Blocker โดยมีผู้บริโภคนั้นอยู่ในกึ่งกลางของสงครามนี้ว่าจะเข้ากับฝ่ายไหน ซึ่งในฝั่ง Ad Blocker นั้นมองว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะสามารถรับชมและปิดกั้น Ads ได้ ซึ่งการปิดกั้นโฆษณาต่าง ๆ จากผู้ทำเว็บไซต์หรือเนื้อหา และนักการตลาดทั้งหลาย ทำให้เครื่องนั้นทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเร็วขึ้นในการอ่านเนื้อหาต่าง ๆ ซึ่งผู้บริโภคนั้นต่างเลือกที่จะทำการ Block Ad ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทั้งนี้เองไม่ใช่เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำการ Block Ads เหล่านี้ แต่เกิดขึ้นกับนักการตลาดด้วยเช่นกัน โดยในงาน dmexco ที่ประเทศเยอรมันนี ใน session ที่มีการกล่าวเรื่อง Ad Blocking นั้น นักการตลาดกว่าครึ่งห้องนั้นได้ยกมือบอกว่าใช้ App Ad Blocker ไม่ว่าจะบนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือมือถือในการ Block โฆษณาทั้งหลายที่เกิดขึ้น
httpv://www.youtube.com/watch?v=z9M8IecmrAA
ทั้งนี้ในมุมคนทำเว็บไซต์เองการทำเว็บไซต์นั้นก็มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ต้นทุนในด้านคนบริหารจัดการเว็บไซต์, ต้นทุนนักพัฒนาและจัดการเว็บไซต์, ต้นทุนในด้านคนผลิตเนื้อหา, ค่าเซิร์ฟเวอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการไม่มีรายได้เข้ามาเลย จะทำให้ต้นทุนเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มพูนมาเรื่อย ๆ ตราบใดที่ไม่มีนักลงทุนเข้ามาสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่คนทำเว็บนั้นต้องหารายได้เข้ามาเพื่อบริหารจัดการเว็บต่อไป ซึ่งหากไม่ใช่เว็บไซต์เล็ก ๆ เช่น Blog ที่ทำด้วยใจรัก หรือ เว็บไซต์ของ Blogger ต่าง ๆ ที่ได้รายได้มาจากการจ้างให้ทำ Content ผ่านแบรนด์ต่าง ๆ นั้น การหารายได้จากการใช้ประโยชน์ของสมาชิกนั้นเป็นเรื่องปกติในการทำเว็บไซต์ ซึ่งนั้นหมายถึงการขายข้อมูลคนใช้เว็บไซต์กับนักการตลาดในการทำโฆษณาต่าง ๆ นั้นเอง ซึ่งรายได้นั้นจะถูกแบ่งกลับมาในการดำเนินเว็บไซต์หรือระบบต่าง ๆ ต่อไปนั้นเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่พอดีกันของทั้งฝ่ายคนทำเว็บไซต์ นักการตลาดและผู้บริโภคกับ Ad Blocker ต่าง ๆ นั้นเอง ทั้งนี้หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปโดยไม่หาทางออกร่วมกัน หรือมาตรการร่วมกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การที่เว็บไซต์ต่าง ๆ จะใช้มาตรการต่าง ๆ ในการตอบโต้คนใช้ Ad Blocker นั้นเอง ซึ่งหลาย ๆ เว็บนั้นใช้วิธีเช่นนี้แล้ว โดย Washington Post นั้นจะมี software ในการตรวจจับว่าผู้อ่านคนใดใช้ Ad Blocker แล้วจะทำการ redirect ผู้ใช้คนนั้นไปสมัครสมาชิกแทน โดยต้องเสียค่าสมาชิกแทน ซึ่งนี้เป็นมาตรการแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นหรือในทางผู้ใช้ Browser Chrome เอง หากใครใช้ Ad Blocker อยู่ก็จะไม่สามารถปิดกั้นโฆษณาบน Youtube ได้ แถมยังต้องทนดูโฆษณานั้นจนจบโดยไม่สามารถกดข้ามได้ด้วย ทั้งนี้หาก Ad Blocker ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เว็บไซต์ต่าง ๆ นั้นจะเก็บค่าบริการรายเดือนหรือรายปีเกิดขึ้นในการใช้งาน (ถ้าอย่างในเมืองไทยลองนึกภาพว่า Instagram และ Facebook ต้องจ่ายปีละ 800 บาท ในการใช้งานทั้งคู่ หรือ Line ต้องจ่ายค่าสมาชิกรายปีเป็นพันแบบนี้ หรือพันทิพย์เก็บค่ารายปีปีละ 9000 บาทในการอ่านและโพสข้อความ) ทั้งนี้คงมีผู้บริโภคจำนวนน้อยที่ยอมจ่าย และยังปิดกั้นโอกาสผู้ที่มีรายได้น้อยที่เข้าถึงอินเทอร์เนตได้ แต่กลับเข้าถึงเนื้อหาไม่ได้เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเข้าไปอ่านเนื้อหาบทความนี้ได้
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในต่างประเทศนั้นเตรียมตัวรับมือไว้หลาย ๆ แนวทางในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่นอย่าง Washington Post และ Chrome ที่ทำไป ซึ่งในส่วนของ iAB นั้นก็ได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจในการรับมือกับ Ad Blocker เหล่านี้เช่น
- การจ่ายเงินให้ Ad Blocker เลย ซึ่งจะมีข้อดีคือการได้รับความคุ้มครองจาก Ad Blocker นั้นเอง (เหมือนจ่ายเงินให้มาเฟีย) แต่ข้อเสียคือเราไม่รู้ว่าเค้าจะขู่กรรโชกทรัพย์หรือขึ้นราคา หรือไปต่อรองทั้งนักการตลาดและคนทำเว็บเพื่อเอารายได้ 2 ทางหรือไม่
- การทำ Native Advertising หรือ Native Content ซึ่งข้อดีทำให้คนนั้นอ่านเนื้อหาเหล่านี้ได้ทันที และเป็นการหลีกเลี่ยงเรื่อง Banner Blindness ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ข้อเสียคือในบาง Content ที่เกิดขึ้นนั้น Ad Blocker สามารถ Block หน้าเนื้อหาหรือบทความเนื้อหานั้นจากหน้าแรกได้ ถ้าตรวจพบว่าเป็น sponsored post หรือเป็นตำแหน่งของเนื้อหาที่ต้องใช้เงินซื้อนั้นเอง นอกจากนี้การทำเนื้อหา Native advertising หรือ Native content นั้นต้องเลือกผู้ทำที่ดีว่าจะทำเนื้อหาออกมาได้ดีแค่ไหน หรือแค่สร้างเนื้อหาเพื่อรับเงินแต่ไม่ได้อะไรกลับมา
- Block คนที่ใช้ Ad Blocker ทุกคน ข้อดีคือจะได้แต่ผู้อ่านที่ยอมรับในเนื้อหาโฆษณานั้นจริง ข้อเสียคือนี้คือมาตรการณ์ไม้แข็งขั้นสุดที่จะเกิดขึ้น และอาจจะไม่ได้ผลถ้า Content ของเว็บเรานั้นสามารถกระจายไปที่ต่าง ๆ ได้ หรือเนื้อหาที่อ่านในเว็บนั้นสามารถหาในเว็บอื่นได้ เพราะคนจะหลีกเลี่ยงไปที่เว็บอื่นแทน
- ระบบกึ่งให้ลองใช้ฟรี (Freemium) ข้อดีคือคนได้ในสิ่งที่ต้องการขั้นต้น และถ้าผู้บริโภคคนไหนคิดว่าการไม่มี Ads นั้นดีก็ทำให้มาสมัครแบบเป็นสมาชิกแทน แต่ข้อเสียคือถ้าไม่มี Content หรือบริการที่ดีมาก ๆ ใครละจะอยากมาสมัครสมาชิกเพื่อเป็น member กับเว็บเรา
- มาตรการณ์สิ้นคิด คือบอกผู้บริโภคไปตรง ๆ ว่าทำไมต้องมีโฆษณาในเว็บไซต์ของตัวเอง ข้อดีคือการได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้บริโภค แต่ข้อเสียแน่นอนละ คืออาจจะไม่ได้ผลเลย
ทั้งนี้ปัญหา Ad Blocker นั้นยังมีทางแก้อีกทางจากคนทำโฆษณาและการตลาดนั้นคือการสร้างสรรค์เนื้อหาทางโฆษณาและการตลาดที่ดี ๆ ออกมาแทน น่าสนใจ หรือตรงกับความชอบของคนในโลกดิจิทัล ซึ่งนักการตลาดต้องเรียนรู้มากขึ้นว่าผู้บริโภคอยากจะฟังอะไรจากเรา หรือเราจะนำเสนออะไรให้ตรงใจกับผู้บริโภคได้มากขึ้นทำให้เกิดการส่งต่อเนื้อหา หรือพูดถึงเนื้อหาได้มากขึ้น (ลองดูพวกวิดีโอไวรัลต่าง ๆ หรือเนื้อหาไวรัลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น)
จากปัญหาเหล่านี้นักการตลาดไทยและคนทำเว็บไซต์ ควรเตรียมรับมือในอนาคตเอาไว้ หากการ Ad Blocker เข้ามาเป็นภัยคุกคามในประเทศไทย ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นมา จะทำให้การเตรียมตัวหรือการรับมือนั้นสายเกินไปได้