พลังออนไลน์..จากงาน Web Wednesday Thailand 1.0

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

หากมองย้อนอินเทอร์เน็ตช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากพฤติกรรมผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ธุรกิจรอบๆด้วยอย่างเหลือเชื่อ  จนแทบจะเรียกได้ว่าใคร หรือธุรกิจใดที่ไม่อาจปรับตัวได้ทัน คงมีอันต้องล้มหายตายจากแน่นอน

ในโอกาสล้อมวงคุยกันแบบตัวเป็นๆครั้งแรกของ “คลับเว็บวันพุธ” หรือที่รู้จักกันในนาม Web Wednesday Thailand แหล่งชุมนุมของคนในแวดวงธุรกิจออนไลน์ ได้ข้อสรุปตรงกันอย่างไม่ต้องสงสัยว่า “ทำธุรกิจออนไลน์ยุคนี้ ใครไม่ปรับตัว คงมีเจ๊ง กับ เจ๊ง”

 webwedth

ชู “Global” รุ่งกว่า “Local” 

“วันฉัตร ผดุงรัตน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเตอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และผู้ก่อตั้ง Pantip.com ให้เหตุผลว่า เนื่องจากประชากรออนไลน์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในปัจจุบันเริ่มมีการแบ่งชนชั้นค่อนข้างชัดเจน โดยมีลักษณะเป็นทรงพีระมิดคือ คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งคราว หรือไม่ได้ยึดติด “เน็ตคือชีวิต” ยังเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นฐานล่างของคนบนโลกออนไลน์ที่กำลังขยายตัวเร็วที่สุด

ขณะที่คอไซเบอร์ระดับ “กีก (Geek)” ยังกระจุกตัวอยู่บนยอดของพีระมิดเล็กน้อยเท่านั้น
ดังนั้นการทำธุรกิจเข้าหาประชากรหมู่มากดังกล่าว จึงจำเป็นต้องรู้จักพฤติกรรม และความนิยมที่จะดึงดูดเข้ามาในวงจรธุรกิจบนโลกไซเบอร์ได้

วันฉัตร เชื่อว่า นักการตลาดออนไลน์จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเวบไซต์สู่การเป็นสากล มากกว่าจะมุ่งตลาดท้องถิ่น เพราะอินเทอร์เน็ตไร้พรมแดน ต่างประเทศมองทั้งโลกเป็นตลาดเดียว ไทยก็ต้องทำแบบเดียวกัน ไม่เช่นนั้นประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย

อย่างเช่นครั้งหนึ่งสังคมออนไลน์ไทยเคยมี “สยามกูรู” เป็นเสิร์ช เอ็นจิ้นยอดนิยม และมี “ไทยเมล์” เป็นอีเมลอันดับหนึ่งของคนไทย แต่ปัจจุบันได้หายไปหมดแล้ว โดยมีเว็บระดับโลกอย่าง “กูเกิล”, ไฮไฟว์” และ “เฟซบุ๊ค” เข้ามาแทนที่

“ถ้าเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้ ก็คงเชื่อได้ว่า วงการเว็บไทยในอนาคตเจอศึกหนักแน่ เพราะเว็บฮิตๆตอนนี้คนรู้จักแต่กูเกิล ไฮไฟว์ เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นเว็บโกลบอล ฉะนั้นทางเดียวที่น่าจะไปรอดคือ ต้องเลิกคิดความเป็นโลคอล แต่ต้องดูความเป็นโกลบอลด้วย ไม่ว่าจะเป็นเน็ตเวิร์ค หรือ คอนเทนท์ โพรไวเดอร์ เพราะเชื่อสุดท้ายแล้ว ตอนนี้เราก็คงยังสู้ของนอกไม่ได้” วันฉัตรว่า

ไร้มาตรฐาน” อุปสรรคสกัดพัฒนา

อย่างไรก็ตามในมุมมองของกูรูตลาดซื้อขายออนไลน์ ยังชี้ให้เห็นว่า แม้จะประชากรอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่หากยังไม่สามารถเก็บสถิติ หรือข้อมูลที่ชัดเจนได้ การวิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อหาเครื่องมือการตลาดมาตอบสนองให้ตรงใจ ก็คงยังทำได้ไม่ดีนัก

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ www.TARAD.com ยอมรับว่า ในปัจจุบันยังไม่ใครสามารถบอกได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเท่าไรกันแน่ แม้ว่าในอดีต “เนคเทค” จะเคยให้ข้อมูลว่ามีผู้ใช้งาน 13.4 ล้านคน หากแต่ก็เป็นการสำรวจตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งถือว่าเก่ามาก

ขณะที่กูรูหลายรายประเมินว่า ปัจจุบันอาจขยับถึง 16 ล้านคน หรืออาจจะถึง 20 ล้านคนแล้วด้วยซ้ำ โดยสรุปคือยังไม่มีใคร หรือหน่วยงานใดที่สามารถบอกสถิติที่ถูกต้องที่สุดได้

เช่นเดียวกับการมูลค่าของตลาดสื่อออนไลน์ก็ไม่มีการวัดที่แน่นอนเช่นกัน โดยเฉพาะเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาด เพราะยังไม่มีมาตรฐานกลางมาวัด ทั้งจำนวนคนและจำนวนเงิน ทำให้การจะผลักดันให้สื่ออินเทอร์เน็ตไปได้ไม่เร็วนัก

“ศวิศิษฐ์ เพื่อวงษ์” รองประธาน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป  ให้ความเห็นว่า การสร้างมาตรฐานในการเข้าถึงอย่างถูกต้องและเหมาะสมก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่บริโภคสื่อออนไลน์ ทว่าทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเน้นที่สื่อบันเทิงแทบทั้งหมด ต้องให้ความรู้ในการเข้าถึงสื่อด้านอื่นๆ ด้วย โดยหนึ่งนั้นคือ “ข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต”

Users สังกัดยุคอิน Interactive

เขาบอกว่า ปัจจุบันเครือเนชั่นได้เริ่มปรับทิศทางการนำเสนอข่าวให้แพร่กระจายผ่านช่องทางต่างๆมากขึ้น นอกเหนือจากหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็น “เว็บไซต์” ให้ผู้อ่านได้เข้ามามีส่วนในการแสดงความคิดเห็นแบบอินเตอร์แอคทีฟมากขึ้น

รวมทั้งการรายงานข่าวผ่าน “เอสเอ็มเอส” และ “เรดิโอ ออนไลน์” และยังรวมถึงการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้อ่านผ่านแนวคิด “ซิติเซ่น รีพอร์ตเตอร์”

“ในแง่ของคนทำคอนเทนท์อย่างสื่อเอง ก็ต้องปรัวตัว ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยผลิตคอนเทนท์มากขึ้น เพราะยูสเซอร์ทุกวันนี้เริ่มมีความต้องการโต้ตอบได้ หรือสามารถแสดงความคิดเห็นต่อข่าวสารที่ได้รับมากขึ้น” ศวิศิษฐ์ ว่า

เช่นเดียวกับ “กันตพัฒน์ นุตะโพธิพันธ์” ผู้จัดการฝ่ายเว็บมาร์เก็ตติ้งและกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ (My Sony) แผนก Consumer Marketing และ CRM Division บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด ที่เชื่อว่า การตลาดยุคนี้ จำเป็นต้องมี “โซเชียล เน็ตเวิร์ค” เข้ามาผสมผสานกับโฆษณาปกติ

เธอยกตัวอย่าง แผนการเปิดตัวกล้องสักตัวหนึ่ง บริษัทจะต้องสร้าง “คอมมูนิตี้” ให้ลูกค้าสามารถเข้ามาแชร์ไอเดีย หรือความรู้ก่อนที่สินค้าจะออกสู่ตลาด โดยเจ้าของสินค้าต้องพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ และหาวิธี “บิลท์” ให้คนในเว็บพูดคุยกันถึงสินค้าของบริษัท

เพราะเชื่อว่า เมื่อลูกค้าเกิดความสนใจมากขึ้น “ดีมานด์” ก็จะต้องตามมาอย่างแน่นอน

ขณะที่ในมุมมองของนักการตลาด “ณธิดา รัฐธนาวุฒิ” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Marketingopps.com เสนอว่า บริษัทเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งเป็นผู้ถือเงินการทำโฆษณาอยู่ ก็ควรต้องเรียนรู้ เข้าใจ และมีมุมมองของด้านดิจิทัลและออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น

จากมุมมองของกูรูออนไลน์แล้ว อนาคตของการตลาดบนโลกไซเบอร์จะค่อยๆ กลายเป็นกระแสที่ยิ่งใหญ่ของโลก ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องเข้าใจในบริบทให้ชัดเจนขึ้น อินเทอร์เน็ตมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมในปัจจุบัน เว็บไซต์หนึ่งๆ ไม่ต่างอะไรจากหนังสือพิมพ์หรือแมกาซีนบนแผงหนังสือ คนที่เข้าเว็บไซต์ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่อ่านหนังสือเหล่านั้นเช่นกัน

ในภาพของการทำการตลาดหรือการโฆษณาก็เช่นเดียวกัน สามารถสร้างการรับรู้ได้ ที่สำคัญอาจจะมีพลังมากกว่าด้วย เพราะลูกเล่นที่แพรวพราว ข้อจำกัดที่น้อยกว่า เมื่อผู้ใช้สนใจเข้ามาเยี่ยมชม สื่อสามารถนำเสนอได้ทุกครั้งที่มีการเข้าสู่เวบไซต์ ภาพเคลื่อนไหว เสียงเพลงประกอบ การตอบโต้ด้วยอินเตอร์แอคทีฟ การทำโฆษณาผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้บนอินเทอร์เน็ต

ขอเพียงแค่ “เข้าใจ” และ “ใช้งานให้เป็น” ชนะเหนือ “สื่อ” อื่นใดคงอยู่แค่เอื้อม

ภาพจากงาน Web Wednesday Thailand ครั้งที่ 1

 

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •